วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

เต่าดำ ตอน2


เมื่อถึงสมัยฉินและฮั่น สัตว์เทพทั้งสี่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในฐานะตัวแทนของฤดูกาลและสีสันทั้งสี่ ในช่วงเวลาดังกล่าว สัตว์เทพทั้งสี่ได้ปรากฏในศาสตร์วิทยาการของจีนหลากหลายสาขา อาทิ ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ และการทหาร ดังเช่น ในตำราพิชัยสงครามบทหนึ่ง ได้กล่าวถึงการกำหนดทิศทางเดินทัพไว้ว่า “การเคลื่อนทัพนั้น ซ้ายเป็นมังกรเขียว ขวาเสือขาว ทัพหน้าคือหงส์แดงและเต่าดำคุมหลัง บัญชาการจากเบื้องบน นำปฏิบัติสู่เบื้องล่าง” เนื่องจากผู้คนในสมัยนั้นต่างคุ้นเคยกับตำแหน่งของสัตว์เทพทั้งสี่เป็นอย่างดี ภายหลังจึงได้รับการประยุกต์ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของธงนำทัพไป

ต่อเมื่อศาสนาเต๋ารุ่งเรืองขึ้น มังกรเขียว เสือขาว หงส์แดงและเต่าดำในฐานะเทพเจ้าผู้คุ้มครองมนุษย์ ต่างมีความสำคัญขึ้น ถูกยกให้มีความเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น ต่างมีชื่อเรียกเป็นมนุษย์ และต่อมาอีกไม่นาน เทพเสวียนอู่หรือเต่าดำ ก็โดดเด่นขึ้นในฐานะของ “เจินอู่” ปรมาจารย์เต๋าผู้สำเร็จมรรคผล ส่วนหงส์แดงเป็นเทพที่มีบทบาทแยกออกมาเป็นเอกเทศ ขณะที่มังกรเขียวและเสือขาวกลายเป็นเทพทวารบาลผู้รักษาประตูทางเข้าสู่มรรคาแห่งเต๋า

เต่าดำ ประจำทิศเหนือ สีดำ ธาตุน้ำ ฤดูหนาว เต่าดำหรือเสวียนอู่ มีรูปลักษณ์เป็นเต่า แต่มีเกล็ดคล้ายงู มีลักษณะร่วมกันของเต่าและงู บ้างใช้สัญลักษณ์เป็นรูปเต่าที่มีงูพันรัดกลางลำตัว แต่เดิมมาจากการใช้กระดองเต่าในการทำนายทายทัก ซึ่งหมายถึงการให้เต่านำคำถามลงไปสู่โลกแห่งวิญญาณเพื่อนำคำตอบกลับมายังโลกมนุษย์ อีกทั้งกระดองเต่ามีสีดำ จึงปรากฏในรูปเต่าดำ ภายหลังได้มีการขยายความออกไป โดยเห็นว่าเต่าอาศัยอยู่กับน้ำ ทั้งแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่จนถึงท้องทะเลกว้าง จึงได้รับการขนานนามให้เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ อีกทั้ง เต่ามีอายุยืนนาน จึงเป็นสัญลักษณ์แทนการมีอายุวัฒนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น